องค์การบริหารส่วนตำบลเป็นรากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่สามารถเห็นได้ชัดเจน เพราะสะท้อนให้เห็นถึงหลักการกระจายอำนาจออกมาอย่างเป็นรูปธรรม โดยหลักสำคัญของการปกครองท้องถิ่น คือการให้ประชาชนปกครองตนเองมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ เข้าใจ และเข้าถึงวิธีการปกครองตนเองมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้และเข้าใจวิธีการปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตย และเพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐบาลกลางในการให้บริการแก่ประชาชน นอกจากนั้นหน่วยงานท้องถิ่นยังถือว่าเป็นตัวแทนของรัฐบาลในการจัดบริการสาธารณะและบริหารงานแทนรัฐบาลกลาง
องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 มีฐานะเป็นนิติบุคคลมีความเป็นอิสระในการดำเนินงานภายในขอบเขตที่กฎหมายกำหนด มีรายได้และมีทรัพย์สินเป็นของตนเอง ซึ่งมีวัตถุประสงค์จัดตั้งขึ้นเพื่อการกระจายอำนาจการปกครอง ให้ประชาชนในท้องถิ่นระดับตำบลซึ่งเป็นเขตชนบทอันเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศได้มีโอกาสเรียนรู้การแก้ไขปัญหาและการสนองตอบความต้องการของตนเอง
การพัฒนาท้องถิ่นขึ้นอยู่กับการกำหนดนโยบาย การวางแผนงานพัฒนาของทาง สภาองค์การบริหารส่วนตำบลและนายกองค์การบริหารส่วนตำบล โดยจะต้องอาศัยประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการรับรู้ เพื่อให้การพัฒนาตรงกับความต้องการของประชาชน และที่สำคัญจะทำให้การบริหารงานองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และสามารถตอบสนองความต้องการการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นงานด้านใดของท้องถิ่นหรือองค์การบริหารส่วนตำบลนั้น
งานของท้องถิ่นมีหลากหลาย รวมทั้งงานด้านการส่งเสริมอาชีพ การเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ซึ่งปัจจุบันสภาพความเป็นอยู่ทางด้านอาชีพของประชาชน ยังถือว่าประชาชนระดับท้องถิ่นมีความยากจนได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ ศัตรูพืช โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากการใช้สารเคมี สารกำจัดแมลง และการต้องลงทุนเพิ่มขึ้นอันเกิดจากการพึ่งพาสารเคมีที่ไม่สามารถผลิตได้เอง ส่งผลกระทบต่อการใช้งบประมาณของทางองค์การบริหารส่วนตำบลในการแก้ไขปัญหาการเยี่ยวยาจ่ายค่าชดเชยพืชผลทางการเกษตร การจัดหาสารกำจัดแมลง
การดำเนินงานตามโครงการสถานีเกษตร วิถีพอเพียงขององค์การบริหารส่วนตำบลสันกลางตามหลักธรรมาภิบาล จึงมีความเกี่ยวข้องกับการวางนโยบาย วางแผน ขั้นตอนในการทำงาน โดยได้วางแนวทางแยกออกเป็นประเด็น ดังต่อไปนี้
ประเด็นปัญหา การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกร ให้หันมาใช้วิธีการธรรมชาติในการกำจัด และการควบคุมแมลง เพื่อให้เป็นไปตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และยังเป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติ ลดการก่อมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องอาศัยการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน อันจะเป็นผลดีต่อสุขภาพร่างกายเกษตรกรเอง รวมถึงผู้บริโภคอื่นด้วย
และประเด็นปัญหาการใช้จ่ายงบประมาณ ระเบียบว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกร ในด้านการดำเนินการป้องกันได้รับความช่วยเหลือในวัสดุเคมีภัณฑ์ เพื่อนำไปปราบศัตรูพืชการใช้สารเคมีของเกษตรกร และประเด็นสำคัญหากเกิดโรคระบาดในพืช เกษตรกรก็จะมาร้องขอความช่วยเหลือจากองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งการให้ความช่วยเหลือในแต่ครั้งต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก
ดังนั้นทางองค์การบริหารส่วนตำบลสันกลางจึงได้ร่วมกันหาแนวทางในการส่งเสริมให้เกษตรกรตำบลสันกลางลดการใช้สารเคมี โดยหันมาใช้วิธีการควบคุมโดยวิธีการธรรมชาติใช้หลักการ ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง และเน้นการบริหารตามหลักธรรมาภิบาล และจุดมุ่งหมายต่อไปจะให้สถานีเกษตร วิถีพอเพียงเป็นแรงผลักดันให้ตำบลสันกลาง อยู่เย็นเป็นสุข ตามรอยพระยุคลบาท
วัตถุประสงค์
(1) เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นการลดรายจ่ายในต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ และทำให้เกิดผลผลิตที่มีคุณภาพ
(2) เพื่อเป็นการรักษาระบบนิเวศของธรรมชาติ สร้างความสมดุลของธรรมชาติ
(3) เพื่อเป็นการสร้างชุมชนให้เข้มแข็งพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน
|